วันอังคารที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2551

ดับเบิลยูเอฟพีช่วยเหยื่อนาร์กีสในหมู่บ้านที่ไม่มีหน่วยงานเคยเข้าถึง

พม่า-เจ้าหน้าที่บรรเทาทุกข์ต่างชาติแจกจ่ายความช่วยเหลือต่าง ๆ ให้กับผู้ประสบภัยพายุไซโคลนนาร์กีส ในหมู่บ้านที่ไม่เคยมีหน่วยงานใดเคยเข้าถึงมาก่อน

เจ้าหน้าที่โครงการอาหารโลกแห่งสหประชาชาติ (WFP) ใช้เฮลิคอปเตอร์ 10 ลำ เดินทางไปยังพื้นที่หมู่บ้านห่างไกลแถบสามเหลี่ยมปากแม่น้ำอิระวดี ที่ได้รับความเสียหายอย่างหนักจากเหตุพายุไซโคลนนาร์กีสพัดถล่มเมื่อต้นเดือนเดือนที่แล้ว เพื่อแจกจ่ายอาหารและน้ำสะอาดให้กับผู้ประสบภัยในกว่า 50 หมู่บ้าน ในจำนวนนี้ 18 หมู่บ้านยังไม่เคยได้รับความช่วยเหลือใด ๆ เลย

ทั้งนี้ โครงการอาหารโลกแห่งสหประชาชาติแจกจ่ายความช่วยเหลือด้านอาหารให้กับผู้ประสบภัยไซโคลนนาร์กีสในพม่าแล้วกว่า 750,000 คน แต่หน่วยงานยังคงต้องการงบประมาณสนับสนุนอีกมาก เนื่องจากจนถึงขณะนี้ ดับเบิลยูเอฟพีได้รับงบประมาณจากสหประชาชาติไม่ถึงครึ่งหนึ่ง จากที่ตั้งต้องการถึง 69.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ


ทหารพม่าเตรียมสร้างเขื่อนแห่งใหม่ ชาวบ้านไร้ที่อยู่หลายพัน


รายงานล่าสุดเผยประชาชนกว่า 3,500 คนรวมทั้งชาวคะยันที่อาศัยอยู่ทางตอนใต้ของรัฐฉานกำลังจะกลายเป็นคนไร้ที่อยู่ หลังจากมีการสร้างเขื่อนตรงเนินเขาปินมะนา

องค์กรสหภาพสตรีคะยาได้ออกรายงานเล่มล่าสุดชื่อ Drowning the Green Ghosts of Kayanland ซึ่งเปิดเผยว่า การสร้างเขื่อนปองลองตอนบนจะทำให้หมู่บ้าน 12 แห่งถูกน้ำท่วม และทำให้พื้นที่อุดมสมบูรณ์กว่า 5,000 เอเคอร์ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงเนย์ปีดอว์ไปเพียง 40 กิโลเมตร ต้องจมอยู่ใต้น้ำ

มู คะยัน โฆษกขององค์กรสหภาพสตรีคะยันกล่าวว่า “เมื่อสี่สิบปีก่อน พวกเราสูญเสียดินแดนเพื่อให้คนในกรุงย่างกุ้งได้ใช้ไฟฟ้า และตอนนี้บ้านของเรากำลังจะจมอยู่ใต้น้ำเพื่อผลิตไฟฟ้าให้กับกรุงเนย์ปีดอว์อีกครั้ง”

เขื่อนปองลองตอนบนมีความสูง 99 เมตรสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ถึง 140 เมกะวัตต์ อีกทั้งยังเป็นตัวเพิ่มปริมาณน้ำที่ปล่องลงสู่เขื่อนปองลองตอนล่าง ซึ่งเป็นการเพิ่มกำลังผลิตให้กับเขื่อนปองลองตอนล่างที่สร้างแล้วเสร็จเมื่อปี 2548 และผลิตกระแสไฟฟ้าให้กับกรุงเนย์ปีดอว์ในปัจจุบัน

ในขณะนี้ เขื่อนปองลองตอนบนกำลังอยู่ในระหว่างการก่อสร้างโดยจะแล้วเสร็จในเดือนธันวาคม 2552 ที่จะถึงนี้ ซึ่งบริษัทที่รับเหมาก่อสร้างคือบริษัทYunnan Machinery and Export Co Ltd ของจีน หนึ่งในบริษัทยักษ์ใหญ่ 24 รายของจีนที่เข้ามาก่อสร้างเขื่อนในพม่าในพม่ามา ทั้งที่สร้างเสร็จแล้วและอยู่ระหว่างการก่อสร่าง

ขณะเดียวกันในรายงานระบุว่า การละเมิดสิทธิมนุษยชน ทั้งการบังคับใช้แรงงานที่เพิ่มขึ้นในพื้นที่สร้างเขื่อน ซึ่งเต็มไปด้วยทหารพม่าได้นำกำลังเข้าไปรักษาความปลอดภัย

อ่องเญะ นักสิ่งแวดล้อมชาวคะเรนนีที่ดำรงเลขาธิการเครือข่ายแม่น้ำพม่า กล่าวว่า ทหารพม่าพร้อมอาวุธครบมือได้เข้าประจำในพื้นที่สร้างเขื่อน โดยบังคับชาวบ้านไปเป็นแรงงานก่อสร้างและไม่อนุญาตให้ชาวบ้านทำงานในไร่ของตนเอง ทำให้ชาวบ้านเดือดร้อน เพราะไม่สามารถทำงานหาเลี้ยงชีพได้

ในรายงานยังระบุอีกว่า การที่ทหารพม่าเคลื่อนกำลังพร้อมอาวุธมายังแม่น้ำปองลองใกล้กับบริเวณสร้างเขื่อนนั้น ถือเป็นการฝ่าฝืนข้อตกลงที่เคยทำไว้กับกองกำลัง Kayan New Land Party (KNLP) ในปี 2537 โดยกอง KNLP ก่อตั้งขึ้นในปี 2507 เพื่อต่อต้านการสร้างเขื่อนโมบีในรัฐคะเรนนี ซึ่งเป็นการสร้างเขื่อนขนาดยักษ์ครั้งแรกในประเทศพม่า

ทั้งนี้ การก่อสร้างเขื่อนในครั้งนั้นทำให้หมู่บ้าน 100 แห่งต้องจมอยู่ใต้น้ำ ทำให้ชาวคะยันและชาวปะด่อง หรือกะเหรี่ยงคอยาวในรัฐคะเรนนีต้องกลายเป็นคนไร้ที่อยู่อาศัย และบางส่วนต้องอพยพมายังประเทศไทย นอกจากนี้ยังทำให้ประชาชนกว่าแปดพันคนในเมือง Pekhon ทางตอนใต้ของรัฐฉาน ซึ่งมีทั้งชาวคะยันไร้ที่อยู่อาศัยด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ชาวคะยันเป็นชนชาติดั้งเดิมที่อาศัยอยู่ระหว่างชายแดนทางตอนใต้ของรัฐฉานกับทางตอนเหนือของรัฐคะเรนนีและรัฐกะเหรี่ยง มีประชากรราวสองแสนคน ชนชาติคะยันแบ่งย่อยเป็น 4 ชนเผ่า เผ่าที่มีจำนวนมากที่สุดคือเผ่าปะด่อง



ที่มา : สำนักข่าวประชาไท
วันที่ 20 มิ.ย. 2551

http://www.siamvolunteer.com/autopagev4/show_page.php?topic_id=849&auto_id=6&TopicPk=1


รูปสวย น่ารัก glitter emoticon www.yenta4.com

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

พม่าแม่งทำไรไม่คิดถึงประชาชนเลยวะ อยากจะฟาดมันด้วยปลายตีน